วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หนังสือพิมพ์และองค์กรที่มีบทบาท
1.หนังสือพิมพ์
Newspaper

Newspaper หรือ หนังสือพิมพ์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของหนังสือพิมพ์ หมายถึง สิ่งพิมพ์ข่าวและความเห็นเป็นต้นเสนอประชาชน ตามปรกติออกเป็นรายวัน [1]
หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดการออกอย่างต่อเนื่อง มักในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น รายวัน รายสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะออกเป็นรายวัน ทั้งนี้แต่ละฉบับจะมีหมายเลขแสดงลำดับที่ของการออกในแต่ละช่วงปีที่ดำเนินการ คือ ปีที่ ฉบับที่/เล่ม วัน เดือน ปี ของหนังสือพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 62 ฉบับที่ 19386 วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ขณะที่เนื้อหามุ่งไปที่การบอกและรายงานข่าวสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน จึงนับเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อติดตามเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมในลักษณะวันต่อวัน ทั้งข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศ
ประวัติหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย
การผลิตหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยหนังสือพิมพ์ฉบับแรก คือ บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) จัดพิมพ์โดย หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley, M.D.) มิชชันนารีชาวอเมริกัน พิมพ์ด้วยภาษาไทย และภาษาอังกฤษ แต่มีอายุได้ไม่ถึง 2 ปี ก็ต้องปิดกิจการลง จากนั้นก็มีหนังสือพิมพ์ออกมาอีกหลายฉบับ และมีกำหนดการออกที่แตกต่างกัน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้จัดทำ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย ชื่อ ราชกิจจานุเบกษา เพื่อชี้แจงข่าวคลาดเคลื่อนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ และเพื่อแจ้งข่าวการบริหารพระราชภารกิจทางการเมือง จนในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่เผยแพร่สู่ประชาชน ชื่อ ดรุโณวาท และมีหนังสือพิมพ์ที่ยอดจำหน่ายสูงมาก คือ ข่าวราชการ จนกระทั่งต้องมีระบบจัดส่ง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์ไทย ในยุคนี้วงการหนังสือพิมพ์ตื่นตัวมาก โดยมีการออกหนังสือพิมพ์ถึง 59 ชื่อ เรื่อยมาสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 8 หนังสือพิมพ์เริ่มถูกควบคุมโดยรัฐบาล และเมื่อปี พ.ศ. 2501 เกิดรัฐประหาร นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนังสือพิมพ์ตกไปอยู่ภายใต้การควบคุมของประกาศคณะปฏิวัติ [2]
โดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทของหนังสือพิมพ์ ได้เป็น 2 ประเภท คือ ประชานิยม และ เพ่งคุณภาพ หนังสือพิมพ์ประเภทประชานิยม (Popular newspaper)มุ่งนำเสนอข่าวประเภทเร้าอารมณ์ เช่น ข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวในแวดวงสังคมและบันเทิง เป็นต้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ขณะที่หนังสือพิมพ์ประเภทเพ่งคุณภาพ (Quality newspaper) มุ่งนำเสนอข่าวประเภทข่าวหนัก คือ เนื้อหาหนักแน่น เจาะลึก และบทความแสดงความคิดเห็น ที่ก่อให้เกิดมุมมองหลากหลาย ทางการเมือง และเศรษฐกิจ เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้อ่านที่สนใจและอยู่ในวงการที่เกี่ยวข้องนั้นๆ โดยเฉพาะ
ส่วนประกอบหลักของหนังสือพิมพ์ ได้แก่
พาดหัวข่าว มักใช้ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ สั้นกระชับ และดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน เป็นแหล่งที่ทำให้ผู้อ่านทราบว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ มีข่าวใดที่สำคัญและน่าสนใจ
ภาพข่าว คือ ภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ มีทั้งภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพการ์ตูน เป็นต้น
คำบรรยายภาพข่าว
ความนำ คือ ข้อความซึ่งขยายความโดยเป็นส่วนที่ต่อจากพาดหัวข่าว และโยงไปยังเนื้อข่าว
เนื้อข่าว คือ รายละเอียดของเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ
บทความ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ บทบรรณาธิการ คอลัมน์ บทวิจารณ์
บทบรรณาธิการ (Editorials) ข้อเขียนที่เสนอข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เสมือนบทนำที่แสดงความคิดเห็นและจุดยืนของหนังสือพิมพ์
คอลัมน์ (Columns) มีทั้งที่เป็นคอลัมน์ประจำ และชั่วคราว รวมถึงที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เขียนแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เป็นต้น
บทวิจารณ์ (Criticism) ข้อเขียนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของบุคคลหรือสถาบัน โฆษณา การโฆษณาแสดงข้อมูลสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการของหน่วยงานและบริษัทต่างๆ
ขนาด การจัดพิมพ์ และราคา
หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในท้องตลาด มีขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Broad Sheet ซึ่งมีความกว้างยาวประมาณ 14 x 23 นิ้ว (A3) ไม่มีการเย็บเล่ม มีจำนวนหน้าประมาณ 30 หน้า ขณะที่การจัดพิมพ์นั้นกระดาษและเทคนิคที่ใช้ไม่สูงนัก และจำหน่ายในราคาถูก ประมาณ 10-20 บาท ทั้งนี้ในปัจจุบัน เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ ได้รับการพัฒนา จึงมีการพัฒนาหนังสือพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์ฉบับพิมพ์ เป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ http://www.thairath.co.th หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่ http://www.dailynews.co.th และ หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ที่ http://www.bangkokpost.com เป็นต้น
รายชื่อหนังสือพิมพ์ไทย

Bangkok Post The Nation กรุงเทพธุรกิจ ข่าวสด คม ชัด ลึก ฐานเศรษฐกิจ เดลินิวส์ ไทยรัฐ แนวหน้า บ้านเมือง ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ โพสต์ทูเดย์ มติชน สยามธุรกิจ สยามรัฐ
2.องค์กรที่มีบทบาทสำคัญ
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรวิชาชีพของสื่อมวลชนซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2543 โดยการรวมกันของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2498 - พ.ศ.2543) กับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (พ.ศ.2508 - พ.ศ.2543) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพในองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้สามารถทำหน้าที่ผดุงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาชีพ และจริยธรรมของสื่อมวลชนไทยได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น
วิสัยทัศน์ เป็นสถาบันหลักของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน
นโยบายในการดำเนินงาน
1. พัฒนาความเป็นปึกแผ่นขององค์กรวิชาชีพหลังการรวมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
2. ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในจริยธรรมและความเป็นกลาง เพื่อให้เกิดการยอมรับและน่าเชื่อถือในวิชาชีพต่อสังคม
3. พัฒนาการประกอบวิชาชีพ โดยเน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด
4. สร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาคมฯ สมาชิก องค์กรผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพในต่างประเทศ
การบริหารงาน
คณะกรรมการสมาคมมีทั้งหมด 15 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 1 ปี โดยเป็นผู้แทนมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ที่มีสมาชิกสมาคมสังกัดอยู่ และได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สมาชิกสมาคมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี สมาคมฯ มีสำนักงานเลขาธิการซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำทำงานเต็มเวลา จำนวน 8 คน
สมาชิกภาพ
เดิมสมาคมมีสมาชิกที่เป็นเฉพาะนักหนังสือพิมพ์จากหนังสือพิมพ์ข่าวทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน และได้เริ่มขยายขอบเขตของสมาชิกโดยการรับนักข่าวจากวิทยุและโทรทัศน์เข้าร่วมเป็นสมาชิกวิสามัญในปี 2540 โดยสมาชิกจะต้องชำระค่าบำรุงปีละ 200 บาท
กิจกรรม
กิจกรรมด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ สมาคมเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรณรงค์เคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนและสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน เช่น การรณรงค์ให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ การเรียกร้องต่อรัฐบาลในการเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณางบประมาณประจำปี การติดตามการทำงานของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ ฯลฯ
กิจกรรมด้านการฝึกอบรม เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวงการสื่อสารมวลชน สมาคมดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมทั้งในระดับของนักศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ อาจารย์ที่สอนวิชาการหนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์ทั้งในระดับประเทศและนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตลอดจนมีการจัดอบรมเฉพาะทางสำหรับนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ด้วย
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังจัดกิจกรรมในการเปิดโอกาสให้นักข่าวได้พบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับแหล่งข่าว ซึ่งนอกจากนักข่าวจะได้ประเด็นข่าวที่จะรายงานต่อประชาชนแล้ว ยังได้ความรู้ในแต่ละประเด็นอย่างลึกซึ้งอีกด้วย นักข่าวทั่วไปรู้จักกิจกรรมนี้ในนามของ เสาร์เสวนา เป็นอย่างดี เพราะสมาคมได้ริเริ่มจัดอย่างต่อเนื่องทุก ๆ วันเสาร์
กิจกรรมด้านสวัสดิการสมาชิก สมาคมมีบทบาทในการดูแลสมาชิกครอบคลุมทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาล ประกันชีวิต คลอดบุตร ทุนการศึกษาบุตร สวัสดิการมรณกรรม และดูแลนักข่าวอาวุโสโดยการจัดตั้งกองทุน เหยี่ยวปีกหัก เพื่อให้ความช่วยเหลือ
กิจกรรมด้านต่างประเทศ สมาคมฯ เป็นองค์ผู้ร่วมก่อตั้ง International Freedom of Expression eXchange (IFEX) และ South East Asian Press Allian (SEAPA) ซึ่งทำงานด้านการรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคอาเซียน โดยสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกสมทบของ International Federation of Journalists (IFJ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการประสานเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์ทั่วโลก รวมทั้งการมีบทบาทในการสนับสนุนนักข่าวไทยเข้าอบรมและสัมมนาร่วมกับนักหนังสือพิมพ์ในระดับนานาชาติ
กิจกรรมด้านการจัดประกวดข่าว สมาคมฯ จัดกิจกรรมประกวดข่าวเป็นประจำทุกปี แบ่งการประกวดเป็น 5 ประเภท คือ การประกวดข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล การประกวดข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นยอดเยี่ยม และการประกวดข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา รางวัลพิราบน้อย และนอกจากนี้ยังมีส่วนสนับสนุนการจัดประกวดข่าวโทรทัศน์ของมูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ ด้วย
กิจกรรมด้านการส่งเสริมจริยธรรม สมาคมฯ ส่งเสริมให้มีการตรวจสอบและควบคุมจริยธรรมระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง โดยที่ประชุมใหญ่สมาชิกของสมาคมจะเลือกตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมจำนวน 5 คน เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลจรรยาบรรณนักหนังสือพิมพ์ให้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของสมาชิกสมาคม และยังทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการเป็นของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติด้วย
การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
สมาคม จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่สำหรับสมาชิกและผู้สนใจใน 4 รูปแบบ
1. หนังสือวันนักข่าว เผยแพร่ปีละ 1 ฉบับ ทุกวันที่ 4 มีนาคม 
2. จุลสารราชดำเนิน เป็นวารสารราย 3 เดือน
3. จดหมายข่าวรายเดือน
4. การเผยแพร่ทางสื่ออิเลกทรอนิกส์ www.tja.or.th
จริยธรรมของวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
1. ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของการเสนอข่าวและความคิดเห็น
2. ให้ประชาชนได้ทราบข่าวเฉพาะที่เป็นจริง การเสนอข่าวสารใด ๆ ออกพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ ถ้าปรากฏว่าไม่ตรงตามความเป็นจริง ต้องรีบจัดการแก้ไขให้ถูกต้องโดยไว
3. ในการได้มาซึ่งข่าว ภาพ หรือข้อมูลอื่นใดมาเป็นของตน ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์เท่านั้น
4. เคารพในความวางใจของผู้ให้ข่าว และรักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว
5. ปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยมุ่งหวังต่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือหมู่คณะใด ๆ โดยไม่ชอบธรรม
6. ไม่กระทำการอันเป็นการบั่นทอนเกียรติหรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น